ประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี (ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้อประเพณีแห่เทียนพรรษานี้มีด้วยกันทั้งหมด 3 หน้า ท่านสามารถ click link ตัวเลขที่ด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
หลังจากที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.Thongteaw.com) ของเราพาทุก ๆท่านไปเที่ยวมามากมายหลากหลายรูปแบบทั้งบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย จนกระทั่งออกทะเล ดำน้ำ ขุดหอย ดูปลา คราวนี้ก็จะขอลองอาสาพาทุก ๆท่านไปเที่ยวชมงานประเพณีที่เป็นส่วนผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อของท้องถิ่นและศาสนากันดูบ้าง ในจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของ "งานประเพณีแห่เทียนพรรษา" เมืองดอกบัวงาม จ.อุบลราชธานี ซึ่งงานนี้มีความสำคัญข้องเกี่ยวกับวันสำคัญทางศาสนาู่อยู่สองวัน ได้แก่ วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา
|
ต้นเทียนใหญ่ยักษ์กลางทุ่งศรีเมือง สัญลักษณ์เมืองแห่งเทียนพรรษา |
วันอาสาฬหบูชา หมายถึง วันเพ็ญเดือน 8 ของปฏิทินทางจันทรคติซึ่งพุทธศาสนิกชนได้จัดการบูชาขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางศาสนา เนื่องในโอกาสวันคล้ายกับวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เรื่อง "ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร" (ที่กล่าวถึงหลักธรรมสำคัญทางพุทธศาสนา คือ อริยสัจ 4 และมัชฌิมาปฏิปทา) ทำให้เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรก คือ ท่านอัญญาโกณฑัญญะ เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สามคือมีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
|
ขบวนอัญเชิญเทียนพรรษาเพื่อร่วมขบวนแห่เทียนไปรอบเมืองอุบลฯ
|
|
แต่ละหน่วยงาน โรงเรียนต่าง ๆ ก็มีสาว ๆ หน้าใส ๆ มาเป็นผู้ถือป้าย |
|
ขบวนติดตามเทียนพรรษามีการร่ายรำแบบพื้นเมืองบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างงดงาม |
สำหรับวัดเข้าพรรษาเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญวันหนึ่งทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับประเพณีการแห่เทียนพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี แต่หากปีใดเป็นปีที่มีเดือน 8 สองหน จะตรงกับวันแรม 1 ค่ำของเดือน 8 หลัง ส่วนมากมักจะตรงกับช่วงเดือนกรกฎาคม วันเข้าพรรษามีความสำคัญคือ เป็นวันที่พระสงฆ์จะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดช่วงฤดูฝน เป็นเวลา 3 เดือน มีความเป็นมาสืบเนื่องจากในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์ต้องเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังสถานที่ต่าง ๆ การเดินทางในช่วงหน้าฝนนอกจากมีความยากลำบากแล้ว ยังทำให้มีโอกาสเหยียบย่ำพืชพันธุ์ธัญหารที่ชาวบ้านได้ปลูกไว้และกำลังเจริญเติบโตนำความเดือดร้อนสู่ประชาชน เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทราบเรื่องจึงบัญญัติให้ช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนให้ภิกษุพำนักอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำ เพื่อป้องกันเหตุดังกล่าวนั่นเอง แต่เนื่องจากอัฐบริขารต่าง ๆ ของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลนั้น มีน้อยและไม่เพียงพอ ชาวบ้านผู้ที่มีจิตศรัทธาจึงพากันมาถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์สำหรับผลัดเปลี่ยน ถวายเทียนพรรษาเพื่อบูชาพระรัตนตรัย และให้พระสงฆ์ใช้จุดให้ความสว่างสำหรับศึกษาพระธรรมวินัย(ในอดีตยังไม่มีไฟฟ้าใช้) จึงกลายเป็นประเพณีทำบุญในวันเข้าพรรษาสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน
|
ทั้งดอกไม้จริงและดอกไม้แกะสลักซึ่งประดับประดาอยู่โดยรอบต้นเทียนพรรษา |
สำหรับงานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่จัดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีนั้น เริ่มมีการประกวดการทำต้นเทียนกันมายาวนานตั้งแต่ประมาณพุทธศักราช 2470 ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงจัดเป็นงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษาในช่วงปีพุทธศักราช 2520 งานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่จัดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานีนั้นเป็นงานยิ่งใหญ่ มโหฬารตระการตา ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งเริ่มขึ้นในวันอาสาฬหบูชา (วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ชาวไทยทุกท่านได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ และต่อเนื่องไปในวันเข้าพรรษา(วันแรม 1 ค่ำเดือน 8) ของทุก ๆ ปี
|
เทียนพรรษาประเภทแกะสลักที่เหล่าช่างฝีมือบรรจงจรดออกมาเป็นรูปลักษณ์อันวิจิตร
บ่งบอกถึงเรื่องราวตำนานต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา |
|
อีกหนึ่งความงดงามของต้นเทียนพรรษาในแบบติดพิมพ์ (ภาพซ้ายและขวามือ) |
|
กองทัพแห่งธรรมดำเนินมุ่งตรงไปยังทุ่งศรีเมือง |
|
พญาครุฑ พระแม่ธรณี พญานาค และเทวดานางฟ้าก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ |
|
มองไปทางใดในงานก็พบเห็นแต่ฝีมือ และความอลังการของศิลปะที่ปกติไม่สามารถหาชมได้ |
จากชื่อเสียงของงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีที่ขจรขจายนั้นทำให้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.Thongteaw.com) ของเราต้องเดินทางมาร่วมในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ปีพุทธศักราช 2552 นี้ อันมีชื่องานอันไพเราะว่า “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม บุญล้ำเทียนพรรษา ประชาพอเพียง” ติดตามร่วมเดินทางไปพร้อมกับพวกเราเลยค่ะ
ประเพณีแห่เทียนพรรษา จ. อุบลราชธานี หน้า 1 2 3
|
|